วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

การอบรมจิตเพื่อควบคุมกายและวาจา

พระธรรมเทศนา

เรื่อง  การอบรมจิตเพื่อควบคุมกายและวาจา


ทีนี้มาพูดถึงการมาของพวกเราแล้ว ต่างคนต่างก็มุ่งเพื่อทำความดีกัน แต่ความดีอันนี้เป็นสิ่งที่น่าทำ เพราะว่าความดีที่เราจะกระทำนี้ เป็นผลดีแสดงตอบ หรือว่าแสดงให้แก่เรา ปัจจุบันนี้พวกเราก็มีความสุข อย่างพวกเรามาอย่างนี้รู้สึก แหม สบายใจ กลับไปนึกถึงการมาวัดของเราก็ภูมิใจ ดีใจ สบายใจ อันนี้มันเป็นบุญ ที่นี้ ถ้าหากเราไม่ได้มาวัดหรือไม่ได้ประพฤติความดี มันก็อย่างว่า จิตใจมันก็ยังไปเกาะอันนั้นอันนี้วันนี้เราทำสิ่งที่ไม่ดีอะไรต่ออะไรบ้าง มันก็ไม่สบายใจ มันก็ตรงกันข้ามกันมา ทีนี้พูดถึงความดีส่วนสำคัญที่เราจะปรับปรุง ส่วนใหญ่มันก็อยู่ ๓ นัย คือต้องทำให้ใจของเรานี้เป็นเบื้องต้น แล้วทำให้กายดีและวาจาดี แต่ส่วนกายและวาจานี้มันออกไปจากจิต เพราะจิตของเรานี้มันเป็นตัวบังคับการ กายและวาจา ต้องเป็นไปตามอำนาจของจิต 

เพราะฉะนั้น สำคัญอยู่ที่จิต  จิตนี้สำคัญมาก ถ้าจิตไม่ดีแล้วการแสดงออกทั้ง ๒ คือ กายและวาจา ไม่ดีแน่ เช่น จิตโกรธอย่างนี้ การแสดงทางกาย และวาจาออกมา มันก็มองชัดอยู่แล้วว่าไม่ดี มนุษย์ทั้งหลายเห็นก็คงว่าไม่ดี ไม่ชอบ ไม่อยากเข้าใกล้ ในเมื่อคนนี้กำลังโกรธหรือแสดงบทบาทที่ว่าโกรธอยู่ ก็ไม่อยากเข้าใกล้เลยทีเดียว อยากจะหลบหนีให้ห่าง ก็เพราะว่าการแสดงออกไม่ดี ที่นี้ อันไม่ดี ตัวตนมันมาจากจิต จิตมันไม่ดี ตัวจิตมันโกรธ มันจึงได้แสดงออกมาภายนอกได้เห็นประจักษ์ อันนี้ก็หมายความว่ามันไม่ดี เพราะฉะนั้นหากในเมื่อจิตของเราไม่ดีแล้ว กายและวาจา จะดีไปไม่ได้ เพราะว่าจิตเป็นตัวบังคับการใหญ่ เป็นผู้สั่งการ เพราะฉะนั้น ดีหรือไม่ดีมันก็อยู่ที่จิตนั่นแหละตัวสำคัญ ถ้าเราปรับปรุงหรือบำรุงจิตของเราหรืออบรมจิตของเราให้ดีแล้ว กายและวาจา ของเราดีแน่ 

เพราะฉะนั้น เหมาะสมเหลือเกินพวกเรามาที่นี่ มุ่งหวังที่มาอบรมจิตของตัวเองให้ดี แต่อุบายวิธี การอบรมจิตของตัวเองให้ดีนี้ก็สำคัญที่สุดคือการได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ การได้รู้ได้เห็นหมู่คณะประพฤติ เช่น ดุจในสมัยที่อาตมาเข้าไปอยู่สำนักของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ นี้อาตมาเห็นผล เพราะได้ดูการเคลื่อนไหวของท่านอาจารย์ใหญ่มั่นการลุกเหินเดินนั่งพูดจา กิริยาพาที ส่วนภายนอกมันประจักษ์เพราะหูเราฟังได้ ตาเรามองเห็นได้ แต่ส่วนจิตใจของท่านไม่มีอะไรที่จะเข้าไปมองได้ แต่ก็มองถึงส่วนแสดงออกทางกายและวาจา ที่แสดงให้เราเห็นให้เราได้ยิน แต่ส่วนนี้มันก็มาจากใจ คล้ายกันกับว่าถึงแม้เราจะมองส่วนภายนอกมันก็ทำให้มองเข้าไปถึงใจได้ เพราะใจของท่านดี ใจของท่านปราศจากอาสวกิเลส ๆ ไม่ได้กระตุ้นใจ คือ ความรู้สึกทางด้านใจของท่านให้เป็นไปตามระบบของกิเลสได้ หมายความว่ากิเลสตัณหานี้ไม่มีทางที่จะบังคับจิตของท่านอาจารย์มั่นให้เป็นไปตามรูปของมันได้ ท่านอาจารย์มั่น มีกระแสจิตเป็นไปตามธรรมมีธรรมเป็นสิ่งนำพา ญัตติเข้าสู่ธรรมตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การแสดงออกทางร่างกายและวาจาของท่าน จึงเป็นไปตามรูปเดียวกันคือว่ามีธรรมเครื่องเป็นอยู่ตลอด อาตมาได้เห็นแล้วก็พยายามดำเนินตัวเองให้เป็นไปตามรูปของท่าน ถึงแม้ว่าจะไม่มีความสามารถกระทำได้ดี ละเอียดลออทุกอย่าง ยังน่าภูมิใจเพราะว่าเราได้เห็นถึงแม้ว่าไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าในยุคสมัยพุทธกาลก็ตาม เห็นท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตเถระ ที่ท่านเป็นอริยบุคคล ในยุคสมัยนี้ ซึ่งอาตมาเกิดมาทัน ได้เห็นการแสดงออกภายนอกทางกาย และวาจา ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองด้วยตาและได้ฟังด้วยหู พิจารณาแล้วว่าท่านแสดงออกทุกิริยาอาการทุกบทบาท มีอะไรเป็นสิ่งนำพากันแน่ 

สรุปแล้วก็มีธรรมเป็นสิ่งนำพาตลอดเวลา กิเลสไม่มีทางที่จะนำพาไปได้ เพราะฉะนั้น เป็นเหตุให้ปลื้มใจ มีความปีติในใจเป็นอย่างมาก สำหรับที่ได้ไปเห็น ที่พูดก็อยากจะให้เข้าใจว่า สำหรับพวกเราแสวงหาครูบาอาจารย์และผู้ประพฤติธรรมที่ดีแล้วเพราะเราจะได้เห็นตัวอย่างจากผู้ประพฤติธรรมทั้งหลาย ว่าผู้ประพฤติธรรมทั้งหลายมีมารยาทการแสดงออกอย่างไรบ้าง เรียกว่าผู้ประพฤติธรรม และพระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ก็ดี ผู้ประพฤติธรรม ท่านมีบทบาทแสดงออกอย่างไรบ้างทางกาย ทางวาจา และจิตใจ เราก็ได้พิจารณา สรุปได้ความว่าการแสดงออกของผู้ประพฤติธรรมคืออย่างนี้ เราก็จะได้ดำเนินตัวของตัวเราให้เป็นไปตามรูปของท่าน นี่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราผู้มุ่งหวังที่จะอบรม กาย วาจา และจิตตัวเองให้ดี เราก็ควรที่จะไปมาหาสู่หมู่คณะผู้ประพฤติธรรมเสมอ นี่ดีแล้วถูกต้องแล้ว และบรรดาพวกท่านทั้งหลายที่มานี้ เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ 

ขอให้พวกเราจงพยายามกระทำให้เสมอไปเถิด ทีนี้ส่วนอุบายวิธีที่จะเราดำเนินให้ดีนั้นก็ต้องหาเหตุผลต่าง ๆ มาช่วยกระตุ้นและเตือนตัวเอง คือ เหตุผลนั้นในเบื้องแรกเราก็ต้องหาอุบายวิธี สร้างสติด้วยการทำสมาธิ เช่น การนั่งทำสมาธิกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ที่ปลายจมูกใช้บริกรรมภาวนาประกอบ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ  พุทโธ ๆ ๆ ด้วยอุบายวิธีที่กระทำก็ต้องการอยากจะให้ทดลองสติว่ามีความสามารถปกครองความรู้สึกของตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจของสติที่เรากำหนดบังคับนี้หรือไม่ อยู่ที่จุดเราตั้งไว้ที่ปลายจมูกหรือไม่ ถ้าจิตของเราหากไปเกาะอารมณ์สัญญาภายนอกด้วยการเผลอไปเราก็กำหนดใหม่ พุทโธ ๆ ให้ทำอย่างนี้เสมอไป ถ้ามันเหนื่อยเราก็นอนตะแคงขวา เอามือขวาซ้อนไปที่แก้มเอามือซ้ายวางราบไปตามตัว แล้วก็กำหนดอย่างเดิมนั่นแหละ ที่ปลายจมูกพุทโธ ๆ อยู่เรื่อย แต่ไม่ออกเสียงนะ พุทโธ ๆ เรื่อยไป  มันหลับก็หลับไป ตื่นขึ้นมาก็พุทโธ ๆ ใหม่ 

มันเหนื่อยเราเดินจงกรม อย่างที่อธิบายสู่กันฟัง พอไปถึงทางเดินกรม ทางที่เราจะเดินยาวประมาณ ซัก ๒๕ ก้าว หรือว่ามันยาวสั้นเข้ามาก็ได้ ถ้ามันสั้นนักยาวออกไปก็ได้ ตามแต่สถานที่หรือตามแต่ถนัด เสร็จแล้วยืนตรง ประนมมือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆ ๆ เสร็จก็วางมือลงไป เอามือซ้ายวางก่อน เอามือขวาวางเกาะหลังมือซ้าย เดินก้าวขาขวา เดินก้าวขาขวาไป พุท ก้าวขาซ้ายไป โธ พุทโธ ๆ อย่าช้านักอย่าเร็วนักพอถึงจุดทางโน้นเสร็จยืนนิดหน่อย เวียนขวาก็หันทางขวา ให้ตรงมาถึงทางเดินจงกรม ยืนนิดหน่อยก็ก้าวลง พุทโธ ๆ จนไปถึงทางโน้น เวียนทำอย่างนี้เสมอ โดยอุบายวิธีก็ต้องการอยากจะให้จิตของเรานี้ อยู่ในอำนาจของตัวบังคับตัวสั่ง เมื่อเราเหนื่อยแล้วเราก็ยืน หลับตาก็ได้ลืมตาก็ได้ ทำมือเหมือน ๆ กับเดินจงกรม และก็กำหนด พุทโธ ๆ เรื่อยไป อยู่อย่างนั้น 


หรือหากในเมื่อเราทำงานทำการก็ดีหรืออ่านหนังสือก็ดี ก็ขอให้มีสติ คุมรับรู้อยู่ในงาน อย่าไปทำให้เป็น ๒ หน้า เช่นงานอันนี้ต้องให้สมบูรณ์เต็มสมบูรณ์เลย ไม่ให้มีแบ่งส่วนไปทางไหนเลย แต่ใจไปคิดอันนู้นไม่เอา ต้องให้สมบูรณ์คือว่าให้เต็มสมบูรณ์เลย ไม่ให้แบ่งส่วนไปทางไหนเลยให้ทำอย่างนี้ แล้วก็พุทโธ ๆ อยู่ โดยวิธีแล้วก็ต้องการจะให้สติสัมปชัญญะนี้สมบูรณ์ เพื่อหาอุบายวิธี ที่จะมาป้องกันจิตของเรา ไม่ให้รั่วไหลเป็นไปตามรูปของสิ่งกระทบ คือเหตุการณ์ โดยจุดประสงค์ของเรา ขอให้ตั้งใจเอาไว้อย่างนี้ 


ที่นี้ต่อจากนั้นไป หากในเมื่อเราไป ณ สถานที่ใด เราก็พยายามฝึก การลุกขึ้นมันเผลอตัวไหม การนั่งลงเผลอตัวไหม การลุกขึ้นทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับ เพศ วัย ฐานะ การนั่งลงจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับ เพศ วัย ฐานะ เราก็พยายามดูครูบาอาจารย์และหมู่คณะผู้ประพฤติธรรม ลุกอยางไร นั่งอย่างไร ซึ่งตัวอย่างที่ดีที่สุดนั่นแหละ เราก็พยายามจัดตัวของเราให้เป็นไปตามรูปนั้นเสมอ ให้จนชิน ให้จนชำนาญ อาศัยสติสัมปชัญญะ ตัวประคองจิตให้อยู่ในอำนาจของมันนี่ให้ไวที่สุด เอามาจับมาแต่งตรงนี้ ตลอดการหยิบของ การวางของ อะไรต่ออะไรต่าง ๆ ตลอดมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ก็บังคับให้เกิดมีความรู้สึกให้มันชัดในสมอง ว่าอันนี้ควร ดีหรือไม่ดี มันไม่ได้ก็รีบพยายามเข้าไปแก้ไขอะไรเหล่านี้ พยายามฝึกและบังคับตัวเองอย่างนี้เสมอไป 


ทีนี้เมื่อเหตุการณ์มันเกิดปรากฏขึ้น เช่น เขาด่าเรา เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องพยายามใช้อำนาจตัวนี้ ตัวที่เราสร้างขึ้นมาบังคับไว้ก่อน คือว่ากระตุ้นไว้ก่อนอย่าให้เป็นไปตามเหตุการณ์ แล้วถึงใช้บทวิจารณ์เพื่อหาเหตุผลมาแก้ให้เป็น เราเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ เมื่อเขาด่าเรามา เราด่าเขาตอบ ความเสียหายจะเท่าไร มันเสียหายถึงครูบาอาจารย์และศาสนาด้วย มันเสียหายไปจนกระทั่งคุณพ่อคุณแม่ หรือชาติโคตรตระกูลของเราด้วย มันไม่เฉพาะเราคนเดียว เพราะฉะนั้น ไม่สมควรที่เราจะต้องตอบเขาด้วยกิริยาแบบนี้ นี่เป็นอย่างนั้น ถ้าเรามีช่องทางที่จะแก้ไขได้หรือเรามองเห็นว่าพอที่จะแก้ไขได้ แต่ในเมื่อจิตของเราสงบแล้ว ไม่โกรธ ไม่เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์แล้ว เราก็หาวิธีพูดให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเราไม่มีช่องทางที่จะพูด ก็เฉย นิ่งเสียดีกว่า เพราะพระพุทธเจ้าผู้พระบิดาพระองค์ทำแบบนั้น และก็สอนพวกเราอย่างนั้น 


ที่นี้เมื่อมีเหตุการณ์อย่างอื่น เราก็พยายามหัดคิดอย่างนี้เสมอ เพื่อจะเอาเหตุผลต่าง ๆ มาเพื่อบังคับจิตหรือประคองจิตของเรา ให้อยู่ในคำที่เรียกว่าปกติ นี้เสมอ ไม่ให้เป็นไปในทางที่บาป สิ่งใดที่มันปรากฏขึ้น จะชวนให้เราดีใจ เช่น เขาชมเรา ปรากฏจิตใจมันฟู ลอยขึ้นมา เราก็หาเหตุผลมาให้ โลกนี้ก็แค่นี้เอง มันมีสรรเสริญกับนินทาคู่กันอยู่ ถ้าเราหลงในทางสรรเสริญแล้ว นินทาเราก็ไม่ต้องการเมื่อนินทามันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็เศร้าหมองอะไรเหล่านี้เป็นต้น เราก็หาเหตุผลเตือนอยู่เสมอ 


เพราะเหตุนั้น เหตุการณ์ใดที่ปรากฏ ที่เราได้ประสบมันกำลังเผชิญกันอยู่ เราก็พยายามน้อมนึกถึงพระพุทธเจ้าผู้พระบิดา พระองค์เป็นอัจฉริยมนุษย์ ท่านเป็นผู้ดีจริง ถึงขนาดท่านเป็นลูกชายใหญ่ของกษัตริย์ ถ้าเรามองดูแล้วในยุคสมัยโน้น ปกครองแบบราชาธิปไตยมีอำนาจยิ่งใหญ่มากแต่ในหลักพระพุทธเจ้าสัพพัญญูพุทธะองค์นี้ที่พวกเราได้ทราบ ถึงแม้จะมีเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งไม่สมควรที่พระองค์จะต้อง หรือพูดกันง่าย ๆ มองดูตามเหตุการณ์ที่ปรากฏแล้ว ไม่น่าพระองค์จะยับยั้งได้เลยแต่พระองค์ก็หาวิธียับยั้งตัวเองโดยวิธีที่แนะนำให้นี้พระองค์ก็สามารถที่รู้เท่ากับสิ่งที่ได้ประสบอยู่นั้นจนถี่ถ้วนและละเอียดลออ จนมองเห็นว่า อันนี้มันเป็นกฎธรรมดาของโลก หรือสภาพของโลก มันก็มีอยู่แค่นั้น รู้เท่าวาระนั้นทั้งหมด จิตของพระองค์ ไม่แสดงต่อแม้แต่นิดเดียว 


เรียกว่าปรกติอยู่ซึ่งผู้พระบิดาบรมครูของพวกเรา พระองค์ก็หาเหตุผลมาแก้ไขจิตของพระองค์ให้ปรกติต่อสิ่งกระทบทั้งด้านดีและด้านชั่วเขาชมเชยหรือสรรเสริญหรือตำหนิเหล่านี้เป็นต้น พระองค์ก็มีอุบายวิธีแก้ไข จนเป็นปรกติอยู่ตลอดเวลาพวกเราก็สมควรต้องนึกถึงอุบายวิธีที่พระองค์ดำเนินซึ่งผู้พระบิดาของเราดำเนินมาแล้วควรที่จะอายพระองค์บ้างว่าเราผู้ถวายตัวเป็นลูกของพระพุทธเจ้านี้ เหตุการณ์อันนี้ปรากฏขึ้นเมื่อเป็นไปตามรูปของเหตุการณ์นี้ เขาชวนให้เราทะเลาะกันก็ดีเหล่านี้เป็นต้น เราก็ควรจะน้อมนึกถึงพระองค์ว่า ผู้พระบิดาของพวกเรา พระองค์ดีจริงเป็นอัจฉริยมนุษย์ซึ่งตามความเป็นมา ของพระองค์แล้วว่าพระองค์ไม่ได้ใช้วาทะรุนแรงตอบบุคคลที่มีวาทะที่รุนแรงต่อพระองค์ บุคคลที่มาสรรเสริญเยินยอพระองค์พระองค์ก็ไม่หยิ่งผยอง พระองค์ก็ปกติอยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้พระบิดาของพวกเราเป็นอย่างนี้สมควรแล้วหรือที่เราผู้ถวายตัวของเราให้เป็นลูกของพระพุทธเจ้า ที่จะมาแสดงบทบาทต่อเหตุการณ์อันที่รุนแรงอย่างนี้ให้เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ อันนี้เป็นเพียงแค่กฎธรรมดาของโลกเท่านั้น เราก็ควรจะหาอุบายวิธีมายับยั้งจิตแล้วก็น้อมนึกถึงพระพุทธเจ้า 


อีกว่าเมื่อหากเราปล่อยให้กิริยาอาการเป็นไปตามรูปของเหตุการณ์แล้วผลเสียไม่เฉพาะเราเสียเนื่องไปถึงพระบิดาของเราคือพระพุทธเจ้าผู้บรมครูและเสียถึงครูบาอาจารย์ของเราด้วยเสียถึงหมู่คณะผู้ประพฤติธรรมร่วมกันด้วย เสียถึงชาติโคตรตระกูลของเราด้วย ความเสียหายมันเนื่องกันไป ไมมีที่สิ้นสุดเพราะมันเหมือนลูกโซ่เราต้องหาอุบายวิธีมาห้ามปรามจิตของเราให้อยู่ในคำที่เรียกว่าปรกติ ไม่หวั่นไหวเป็นไปตามเหตุการณ์ที่ปรากฏที่กระทบอยู่เมื่อพวกเราเห็นสาวกหรือลูกชายลูกหญิงของพระพุทธเจ้ากระทำได้อย่างนี้พวกเราก็เรียนกว่าผู้บรรลุนิติภาวะในทางธรรมเป็นผู้มีกำลังของธรรมที่สร้างขึ้นมาสมบูรณ์ ไว้ดีแล้วไม่ปล่อยให้จิตของเรารุนแรงเป็นไปตามเหตุการณ์ เราต้องเป็นเราเองมีอิสระในตัวอาศัยเหตุการณ์เป็นสิ่งนำพาเข้าสู่ระบบของมันอยู่ตลอดเวลา ดีชั่วชั่วดีก็เป็นอันว่าเป็นไปตามรูปของมันอยู่ตลอดเวลาแปรว่าเราไม่ได้เป็นตัวของเราเองอาศัยเหตุการณ์นำพาทุกสิ่งทุกอย่างดีชั่ว ชั่วดีเป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ตลอดเวลา 


อันนี้เรียกว่าผู้ไม่มีอิสระในตัวผู้เป็นทาสของกิเลสตัณหา เป็นทาสของอารมณ์แต่หากในเมื่อพวกเราผู้สร้างกำลังส่วนนี้สกัดกั้นไม่ให้จิตของเราเป็นไปตามรูปเหตุการณ์อันนั้นได้แล้วเราเป็นตัวของเรามีอิสระในตัวของเราสามารถพูดได้ว่าเราเป็นไท ไม่ใช่ทาสหรือจะเปล่งอุทานออกมาดัง ๆ ได้ว่า ชิตังเม ชิตังเม เราผู้ชนะ คือ ชนะอะไร ชนะเหตุการณ์และอารมณ์อันที่จะทำให้เราเสียหายเป็นไปเพื่อความสกปรกเดินต่อสายใยของภพชาติ หรือสืบต่อภพของจิต เราก็สามารถจะเปล่งอุทานว่า ชิตังเม เราผู้ชนะในเหตุการณ์อันนี้ได้แล้วจิตของเราไม่ต่อภพได้แล้ว ไม่ได้เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์แล้ว เราชนะแล้วเราสามารถเปล่งอุทานออกมาได้ สมกับว่าเราเป็นลูกของพระพุทธเจ้าเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ เป็นผู้มุ่งดี หวังดี เมื่อเราทำได้อย่างนี้นั้น 


ที่สุดแล้วแดนอมตมหานฤพาน ผู้พระบิดาและพระอริยชนที่ท่านไปอยู่ เราจะเข้า ไปอยู่ในแดนอันนั้นได้แน่นอน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไม่มีโอกาสจะไปได้ เพราะแดนอันนี้ไม่ยอมรับบุคคลที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ หรือกิเลสหรือตกอยู่ใต้อำนาจของเหตุการณ์ บุคคลที่ไม่มีอิสระในตัวปล่อยให้เหตุการณ์และอารมณ์นำพาให้เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์และอารมณ์อยู่ตลอดเวลานั้นไม่สมควรที่จะต้องเข้าไปสู่แดนอันนี้เพราะมิใช่ผู้บรรลุนิติภาวะในทางธรรม เป็นคนอ่อนที่สุดในทางธรรม นี้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพวกเราผู้เป็นสาวกสาวิกาของพระพุทธเจ้าผู้มุ่งดีผู้หวังดี จงพยายามหาอุบายวิธี ทำสมาธิจิตให้เป็นไปตามรูปดังกล่าว 


แล้วเอากำลังส่วนนี้มาช่วยดังกล่าว แล้วพวกเราจะได้ดำเนินก้าวเข้าไปสู่ความหมดจด เป็นผู้มีอิสระในตัว เป็นผู้ที่เรียกว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา ไม่ให้จิตต่อภพ เป็นไปตามสายใยของภพและหลงในมโนภาพของกิเลสหรือตัณหาที่มันสร้างขึ้นมาให้เราหลง พวกเราจะได้รู้เท่าหมดทุกกิริยาอาการ นี่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนี่แหละขอฝากเหตุผลอันนี้ให้ไปคิดพิจารณา 


หากในเมื่ออุบายวิธีอันนี้ถูกต้องแล้ว ตามหลักลัทธินิยมทางพระพุทธศาสนา เป็นไปตามสายทางของพระพุทธเจ้า เป็นการเจริญรอยตามยุคลบาทของพระองค์ถูกต้องแล้ว ก็ขอให้พวกเราจงพยายามดำเนินตามแล้วพวกเราจะได้มีความสุขความเจริญต่อไป


ในที่สุดยุติลงแห่งการให้อุบายวิธีในวันนี้นั้น อาตมาภาพขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย แก้วทั้งสามจงมาคุ้มครองอภิบาลพวกเราที่กล้าเสียสละเพื่อประพฤติความดี อย่างที่เห็นอยู่นี้ จงได้ประสบแต่ความสุขความเจริญ ภัยพิบัติอันตรายอย่าได้เกิดมีมา อาตมาอธิษฐานถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพรที่ให้ไปนี้ จงสำเร็จ จงสำเร็จ จงสำเร็จ ในพวกท่านทั้งหลายจงทุกประการ เทอญฯ
------------------------------------
ไม่อนุญาติให้นำไปพิมพ์จำหน่าย แต่เผยแพร่เป็นธรรมทานได้

บุญนำใจ
๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘
ที่มา http://maditation13.blogspot.com/?view=timeslide 

ไม่มีความคิดเห็น: