วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหฐโยคะ (Hatha Yoga)

แสงแห่งปัญญาจากอดีตสู่ปัจจุบัน

                 ศาสตร์แห่งโยคะถือกำเนิดขึ้นที่แผ่นดินอินเดียโบราณ มีการกล่าวถึงครั้งแรกในยุคพระเวท ( the Vedas) ซึ่งมีอายุราว ๕,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล คำว่า “ยุช (Yuj) มีความหมายว่า การรวมกัน การเชื่อมประสาน ความเป็นหนึ่งเดียว โยคะในคัมภีร์พระเวท เป็นการฝึกฝน หล่อหลอมตนเอง หรือ ชีวา (jiva) ต่อสิ่งสูงสุด หรือจิตวิญญาณสูงสุด หรือ พรหม(Brahman)  ดังเช่นคำสอนโยคะในคัมภีร์อุปนิษัท (Upanishad)  ซึ่งเป็นคัมภีร์ในช่วงท้ายของยุคพระเวท การกล่าวถึงว่า เป็นแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อนำตนไปสู่สิ่งสูงสุด หรือ พรหม (Brahman) หรือที่รู้จักกันในนาม ตันตระโยคะ (Tantra Yoga)

                 มีการค้นพบหลักฐานว่ามีวัตถุโบราณเป็นหินแกะสลักรูปโยคีนั่งสมาธิในท่านั่งดอกบัว (the lotus pose) มีอายุราว ๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล แสดงให้เห็นว่า การฝึกโยคะและสมาธิมีความนิยมแพร่หลายในผู้คนในยุคนั้น

                 ราววศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสตกาล มีมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่อยู่ ๒ เรื่อง คือ มหากาพย์รามายะนะ รจนาโดย ฤาษีวาลมิกิ (Valmiki) เรารู้จักกันดีในชื่อ รามเกียรติ์ เมื่อพระรามและกองทัพยกไปเมืองลังกา เพื่อไปช่วยนางสีดาซึ่งถูกทศกันต์แย่งชิงตัวไป ในการศึกนั้นพระรามมิได้พึงใจที่จะรบแต่อย่างใด แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ของสามี  ถือว่าเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตของอินเดียที่กล่าวถึงการทำหน้าที่และต่อสู้กับสิ่งไม่ดี

                 มหากาพย์มหาภารตะ รจนาโดย ฤาษีไวยาสะ (Vyasa) เป็นวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่และมีความยาวที่สุดในโลก พรรณาถึงการทำสงครามแย่งชิงกาารปรกครองแผ่นดิน และการสู้รบของพี่น้องสองตระกูล คือ ตระกูลเการพ กับ ตระกูลปาณฑพทั้งสองตระกูลสืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษเดียวกัน ในสมรภูมิทุ่งราบกุรุเกษตร ใช้เวลารบอยู่สิบแปดวัน ในที่สุดฝ่ายธรรมะ คือ ฝ่ายปานฑพก็ได้รับชัยชนะ

 

                ภายในมหากาพย์มหาภารตะ มี ภควัตคีตา  (Bhagavad Gita) อันเป็นเรื่องราวที่คนฝึกโยคะและปรัชญาอินเดียรู้จักกันมากที่สุด กล่าวถึง บทสนทนาระหว่าง พระกฤษณะ สอนโยคะแก่ อรชุน นักรบที่กำลังอยู่ในสนามรบ  เป็นช่วงที่อรชุนรู้สึกหดหู่ใจที่ต้องรบกับญาติกันเอง โดยมีสาระที่สำคัญที่สุด คือการเติมเต็มภาระหน้าที่ของการกระทำในชีวิต อย่างปราศจากความคาดหวัง เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

                 พระกฤษณะได้ให้ความหมายของโยคะไว้ว่า

               " สมาตวัม โยคะ อุชัยเต"  (Samatvam Yoga Ucyate)

                หมายความว่า โยคะคือ สภาวะที่จิตใจไม่มีผลกระทบจากความเศร้าโศก เสียใจ หรือความยินดี ความสุข ใดใดทั้งสิ้น

                โยคะที่ปรากฏใน ภควัตคีตา นี้คือ

                กรรมโยคะ(Karma Yoga) เป็นวิถีทางการฝึกตนเองเพื่อการอุทิศการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น          

               ภักติโยคะ (Bhakti Yoga) เป็นวิถีของการตั้งมั่นในการกระทำทั้งมวลด้วยความศรัทธา ความรัก ความมั่นคงต่อพระเจ้าและความจริงสูงสุด

                ญาณโยคะ (Jnana Yoga) เป็นโยคะที่เป็นเรื่องการแสวงหาความจริง ปัญญา โดยนำเอาปรัชญาเวทานตะ (Vedanta) มาใช้เพื่อความเข้าใจในชีวิต

                 จนกระทั่งราว ๕๐๐ - ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล มหาฤาษีปตัญชลี ได้รจนา โยคะสูตร (Patanjali Yoga Sutra) ขึ้น ถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญต่อศาสตร์โยคะที่เรียกว่า ปตัญชลีอัษฏางคโยคะ (Patanjali Ashtanga Yoga)   ท่านปตัญชลีกล่าวไว้ในโยคะสูตร ด้วยคำที่สั้นๆ ตรงตัว และมีความหมายอย่างยิ่ง จำนวน ๑๙๖ บท ครอบคลุมแนวความคิดเรื่องการพัฒนาชีวิต แต่ละบทเหมือนหยดน้ำแต่ละหยดที่ค่อยๆ เติมเต็มทะเลสาบ กล่าวคือ เป็นคัมภีร์ที่แสดงถึงวิถีแห่งการฝึกฝนอบรมจิตใจที่มีระบบ มีวินัยในการใช้ชีวิต มากมาย 

      ต่อมาราวคริตศตวรรษที่ ๑๕ ได้มีคัมภีร์หฐโยคะปทีปิกะ (Hatha Yoga Pradipika) เขียนโดย ท่านสวามีสวาทมารามา (Swami Swatavarama)

คัมภีร์หฐโยคะปทีปิกะแบ่งเป็น ๔ ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ ๑ อธิบายเรื่อง ยะมะ (yama) เป็นการควบคุมพฤติกรรม  นิยะมะ (niyama) หรือ การฝึกตนเอง ท่าการฝึกโยคะ หรือ อาสนะ (Asana) รวมทั้งแนวทางเรื่องอาหาร  

ส่วนที่ ๒ อธิบายเรื่อง ปราณยามะ (Pranayama)  หรือ การฝึกการควบคุมลมหายใจ และวิธีชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย หรือ ชัตกามา(shatkarmas)  

ส่วนที่ ๓ อธิบายเรื่องมุทรา (mudras)  หรือการเพ่ง การฝึกพันทะ(bandhas) หรือการปิด นาดิ (nadis) หรือช่องทางเดินของพลังชีวิต และกุณฑาลินี (kundalini) หรือพลังแห่งชีวิต

ส่วนที่ ๔ อธิบาย เรื่อง ปรัตยาหาระ (pratyahara) หรือ การทำให้ความรู้สึกของอินทรีย์สิ้นไป  ธารณะ(dharana) หรือ การแน่วแน่ในจิต ธัยยาณะ(dhyana) หรือ การทำสมาธิ และ สมาธิ (samadhi) หรือการหล่อหลอมตัวตน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานการฝึกโยคะในปัจจุบัน

ขอบคุณ
ข้อมูลจาก  http://www.rayayoga.com/

ไม่มีความคิดเห็น: